การให้อภัย

ความจริงเรื่องการให้อภัยนั้นมีคนพูดถึงกันมาก และก็รู้ว่าเป็นสิ่งดีที่ควรจะให้อภัยคนอื่นให้ได้ แต่คนที่พูดว่าให้อภัยแล้วปากพูดไปแต่ใจไม่ยอมให้อภัยยังมีอีกมากรวมถึงคนที่บอกว่า ไม่สามารถให้อภัยได้เพราะยังแค้นอยู่ก็มีมาก

การให้อภัยจึงไม่ใช่ของง่ายๆ เลย ทำยากกว่าการให้สิ่งของ ให้เงิน หรือให้กำลังใจคนอื่นเสียอีก ถ้าใครรู้จักการให้อภัยได้ ถือว่าเป็นการทำงานชิ้นเยี่ยมของชีวิตได้ และทำให้มีความสุขมากขึ้น

คนพร้อมจะโกรธและไม่ให้อภัย

มีผู้คนที่มีทุกข์มาปรึกษาผมที่คลินิกเป็นจำนวนมาก ด้วยความโกรธแค้นผู้อื่น และไม่สามารถอภัยได้ ทำให้เกิดเป็นความทุกข์เรื้อรังบางคนถึงขั้นมี อาการทางฝ่ายกายร่วมด้วยหลายๆ อย่าง และที่แน่ๆ ก็คือบุคคลเหล่านี้อารมณ์ไม่ดีบ่อยๆ มักจะโกรธ และผิดหวังได้ง่ายๆ

ตัวอย่างเช่น :
มีผู้หญิงคนหนึ่งโกรธสามีมากที่สามีทำดีเฉพาะกับญาติพี่น้องของเขา แต่กับภรรยาจะเข้มงวด ขี้เหนียวและเอาเปรียบ ภรรยาไม่ยอมให้อภัย เธอพยายามขอหย่า สามีไม่ยอม ภรรยาก็หาทางแก้แค้นตลอดมา ไม่ยอมยกโทษให้

อีกรายหนึ่งเป็นกรณีสามีแค้นภรรยาที่มาทราบหลังจากแต่งงานได้ไม่นานว่า ภรรยาเคยมีแฟนมาก่อน และเคยมีความสัมพันธ์ทางเพศกับแฟนเก่า สามีแค้นมาก ไม่ยอมให้อภัย ไม่มีอารมณ์ทางเพศด้วย แต่ยังไม่ยอมหย่า

อีกรายหนึ่งเป็นกรณีลูกชายวัยหนุ่มแค้นพ่อที่เข้มงวดกับเขาตั้งแต่เขายังเด็ก พ่อรักลูกไม่เท่ากัน ลำเอียง ขณะนี้เขาเรียนจบแล้วมีการงานทำดี แต่ยังโกรธแค้นพ่อไม่หายขนาดลั่นวาจาต่อหน้าพ่อ ว่าถ้าตายก็ไม่ต้องเผาผีกัน

มนุษย์พร้อมจะโกรธคนอื่นได้ง่ายเพราะเขาสนใจและรักตัวเองมากไป มักจะจับผิดคนอื่น หรือโยนความผิดไปให้คนอื่น หรือตั้งมาตรฐานตัวเองสูงมากจนมองคนอื่นทำผิดได้ง่าย เพราะไม่เข้ามาตรฐานที่เขาตั้งเอาไว้หรือผิดหวังเพราะคิดว่ามนุษย์ทุกคนจะต้องมีความดีพร้อม ซึ่งไม่มีทางเป็นไปได้ และมนุษย์ก็ไม่พร้อมจะให้อภัย หรืออยากล้างแค้นให้สมใจเสียก่อน หรือเกิดความระแวงว่าจะเกิดความเจ็บปวดขึ้นอีก

หลายๆ คนคอยเตือนความทรงจำเกี่ยวกับความโกรธแค้นด้วยการคิดถึงบ่อยๆ หรือจดบันทึกเหตุการณ์ที่โกรธเอาไว้ ยิ่งทำให้ไม่สามารถลืมได้ แถมจะยิ่งโกรธแค้นมากขึ้นเรื่อยๆ ไม่สามารถอภัยได้เลยจนตาย

คนที่ไม่อภัยคือคนแพ้ 

ถ้าเราโกรธใครเพราะคิดว่าเขาทำผิดต่อเรา และเราไม่ให้อภัยเขานั่นก็เหมือนกับเราคือผู้แพ้ เขาคือผู้ชนะ เพราะเราจะให้เวลาและความสำคัญกับเขาบ่อยๆ ยิ่งคิดก็ยิ่งทุกข์ทำอะไรก็ไม่ได้ ตัวเราเองจะทุกข์มากขึ้น ส่วนเขาจะทุกข์หรือไม่ เราไม่รู้ ตกลงเราคือผู้แพ้ เขาคือผู้ชนะ

แต่ถ้าหากเราให้อภัยได้ เราไม่แคร์ว่าเขาจะทำอย่างไรกับเรา เรื่องมันผ่านไปแล้วเป็นเรื่องของอดีต เราก็จะกลายเป็นผู้ชนะทันที ถ้าเขาทำผิดกฎหมายก็ให้ต่อสู้ในแง่กฎหมาย

ถ้าเขาผิดโดยเราต่อสู้ไม่ได้และเป็นฝ่ายเสียเปรียบ ก็ต้องคิดว่าเป็นเรื่องของวิบากกรรม ที่เราอาจจะเคยทำสิ่งที่ไม่ดีกับเขาเอาไว้ก่อนในอดีต ผลกรรมจึงตามมาทำให้เราทุกข์เราต้องถ่อมตัว ถ่อมใจ ยอมรับความทุกข์นั้น และทำดีให้มากขึ้นโดยหวังว่าผลของการทำดีนั้นจะทำให้ชีวิตเราดีขึ้น พ้นจากวิบากกรรมนั้นได้เร็วๆ ส่วนเขาที่ทำความผิดกับเรา ทำให้เราเดือดร้อน เจ็บปวด เขาก็จะได้รับผลของการกระทำนั้นเองในอนาคต

ต้องเชื่อเรื่องกฎแห่งกรรมเอาไว้บ้าง จะได้มีแนวคิดที่สร้างสรรค์ได้ ไม่จนมุม ถ้าไม่เชื่ออย่างนี้ก็จะเกิดการยกตัวโดยคิดว่าตัวเองถูกต้อง คนอื่นผิด และโทษคนอื่นตลอดเวลา จะยิ่งทุกข์มากขึ้น

คนที่ไม่ให้อภัยนั้นจะมีความทุกข์เสมือนมีบาดแผลในใจหรือมีหนามชีวิตที่คอยทิ่มแทงจิตใจตัวเอง ให้เจ็บปวดตลอดเวลาที่นึกถึงเป็นเรื่องทรมานมาก เวลาคิดขึ้นมาจะมีความเครียด รู้สึกเจ็บปวด มีการหลั่งสารคลายความเครียดคือ Adrenaline และ Cortizonine (ไม่แน่ใจต้นฉบับขาดตรงคำนี้น่ะค่ะ) ในสมองแต่ถ้าให้อภัยแล้วจิตใจสบาย พร้อมจะรักตัวเองเป็นและรักคนอื่นได้ มีความคิดสร้างสรรค์ได้ จะมีการหลั่งสารของความสุข Endophine ในสมองได้

 

เทคนิคการให้อภัยผู้อื่น

การให้อภัยนั้นเป็นเรื่องที่ไม่ง่ายนักต้องตั้งใจทำ และต้องรู้ประโยชน์ของการให้อภัยรู้จักโทษ ของการไม่ให้อภัยให้ดีด้วย และลองๆ ทำตามคำแนะนำดังนี้ครับ

1. จงสร้างภูมิคุ้มกันตัวเองให้มากขึ้นโดยให้มีความพร้อมจะให้อภัยคนได้ง่ายขึ้น และโกรธคนได้น้อยลง เพราะรู้แล้วว่าถ้าโกรธแค้นแล้วไม่ดีอย่างไร และรู้ว่าการให้อภัยเป็นสิ่งที่ยาก แต่มีผลดีมาก เราจะสร้างภูมิคุ้มกันได้โดยขอให้ถ่อมตน อธิษฐานต่อสิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่คุณนับถือทุกคืนว่า ขอให้คุณได้รับพลังจากสิ่งศักดิ์สิทธิ์นั้น เพื่อทำให้คุณ
สามารถรักคนอื่นได้มากขึ้น
สามารถให้คนอื่นได้มากขึ้น
สามารถให้อภัยคนอื่นได้มากขึ้น
และขอให้คุณ ได้รับความรักจากคนอื่นมากขึ้น
ได้รับการให้จากคนอื่นมากขึ้น
ได้รับการให้อภัยจากคนอื่นมากขึ้น
จะทำให้คุณมีความพร้อมจะให้อภัยคนอื่นได้มากขึ้นและง่ายกว่า และเป็นการเตรียมตัวถ่อมตัว รับเอาพลังจากสิ่งที่อยู่เหนือกว่าคุณที่คุณนับถือ มาไว้ในใจของคุณเพื่อให้คุณมีพลัง จะทำในสิ่งที่ยากนี้ได้ดีขึ้น

2. ใช้สติ ปัญญา ให้มากขึ้น โดยให้คิดว่า คนที่ทำให้เราโกรธนั้นเขาอาจจะมีข้อบกพร่องในตัว ซึ่งเป็นความปรกติของบุคคลทั่วไป ที่เกิดมามีความบกพร่องในตัวทุกคน และมีความไม่เท่ากัน ไม่เหมือนกัน จะทำให้เรามองความผิด และความบกพร่องของเขาเป็นเรื่องปรกติ รวมทั้งตัวเราก็สามารถทำความผิดหรือมีความบกพร่องได้ด้วย

คนที่มีความบกพร่องนั้นจะได้รับความทุกข์จากความบกพร่องของเขา เช่น คนที่ปากพล่อยชอบด่าว่า ก้าวร้าวต่อคนอื่น เขาก็จะมีศัตรูมาก เมื่อเขาโกรธง่ายก็ทำให้เป็นโรคหัวใจ หรือความดันโลหิตสูง หรือมีภูมิต้านทานต่ำได้ง่าย

เชื่อในเรื่องกฎแห่งกรรม ถ้าหากเขารังแกเรา ทำให้เราทุกข์ ก็ให้คิดว่าเป็นเรื่องของวิบากกรรม ตามมาถึงเราให้ถ่อมใจรับเสียและทำความดีมากขึ้น (ในกรณีที่ต่อสู้ด้วยกฎหมายไม่ได้ แต่ถ้าหากต่อสู้ด้วยกฎหมายได้ก็ให้ดำเนิน ตามกฎหมายไป ถ้าสู้แล้วแพ้ก็ให้ถือว่าเป็นเรื่องของวิบากกรรมดังกล่าวแล้ว ให้ถ่อมตัวยอมรับและรีบทำความดีให้มากขึ้น

ถ้าไม่อยากต่อสู้ทางด้านกฎหมายและความแค้นยังคาใจอยู่ ก็ให้นึกถึงผลของความแค้นของเรา ที่ทำให้สารของความเครียดหลั่งออกมา เกิดความไม่เป็นสุขและเป็นโรคทางกายตามมาได้มาก เพราะใจของเราจะใฝ่คิดถึงแต่ความทุกข์เสมอๆ

ถ้ายังแค้นอยู่และไม่ให้อภัยเท่ากับเราเป็นผู้แพ้ เพราะยิ่งคิดยิ่งแค้นและทำอะไรไม่ได้ ไม่มีความสุข มีแต่ความทุกข์ตลอดเวลา แต่ถ้าเราแค้นและให้อภัยได้ เราคือผู้ชนะ เพราะเราไม่แคร์ว่า เขาทำอะไรให้เราในอดีตแล้ว เราคิดเป็นแล้ว เราทำในสิ่งที่ยิ่งใหญ่และลำบากคือการให้อภัยได้แล้ว

ผลของการทำความผิดของเขาที่ทำต่อเรานั้น ให้เป็นเรื่องการตัดสินและลงโทษ ตามกติกาของกฎแห่งกรรมเถิด

3. ให้ถ่อมตัวให้มากขึ้นอีก สติปัญญา และวิจารณญาณจะเกิดขึ้นได้มากขึ้นอีกโดยคิดได้ว่า
เราตั้งมาตรฐานตัวเองสูงเกินไปหรือเปล่า ระแวงมากไปไหม คิดมากไปไหม จับผิดเขามากไปไหม ทำให้คิดว่าเขาทำผิดต่อเรา และย้ำคิดซ้ำๆ มากไปจนเกิดความทุกข์จากความโกรธแค้นมากไปหรือเปล่า

เกิดความเข้าใจสภาพปรกติของมนุษย์ว่าต้องมีความผิดความบกพร่องและสามารถยอมรับ ความบกพร่องของคนอื่นได้เห็นใจในความผิดบกพร่องของงเขาได้อยากช่วยเหลือเขา และจะอภัยได้ง่ายขึ้นเพราะรู้ว่าเขาก็ทุกข์จากข้อบกพร่องของเขา เขาไม่ได้มีความสุข จากการทำผิดต่อเราอย่างที่เราคิดหรอก

ทุกอย่างที่เราคิดโกรธแค้นแล้วเกิดความทุกข์นั้น ไม่ใช่ทุกข์ถาวรหรอก ทุกอย่างจะแปรเปลี่ยนไป ตามกฎของปรมัตถ์สัจจะที่มีความเป็นอนิจจังทั้งนั้น อย่าไปคิดยึดติดว่าเราจะต้องทุกข์มากๆ ตลอดไป จงหาทางคลายทุกข์ให้ผ่านไปเร็วๆด้วยการให้อภัยไม่ดีกว่าหรือ (ถ้าคิดอย่างนี้ถือว่ามีวิจารณญาณ หรือ Insight ได้แล้ว)

4. ให้ออกกำลังกายแบบเคลื่อนไหวและไม่แข่งขัน (Aerobic Exercise) เช่นการวิ่งจ๊อกกิ้ง เพื่อให้สารความสุขหลั่งออกมาและให้นึกถึงภาพตัวเองมีความสุขจากการให้อภัยคนอื่น และให้นึกถึงภาพตัวเองมีความทุกข์จากการไม่ให้คนอื่น จะทำให้อยากให้อภัยได้ง่ายขึ้น

5. ชื่นชมตัวเองให้มากๆเมื่อคิดได้ดังกล่าว หรือเริ่มลงมือทำอะไรเพื่อการให้อภัยดังกล่าวแล้ว จะเกิดกำลังใจได้มากขึ้น

ผู้ให้อภัยคือผู้ชนะ

เมื่ออภัยได้แล้วจะเกิดปรากฎการณ์ดังนี้

1. คุณคือผู้ชนะ เพราะคุณไม่แคร์เขาแล้ว
2. คุณไม่ผูกมัดตัวเองกับหนามชีวิต หรือบาดแผลหัวใจต่อไปแล้ว เลิกเจ็บปวดกับมันเสียที
3. สารความสุข Endophine ก็จะหลั่งในสมองมากขึ้น มีความสุขมากขึ้น
4. ชื่นชมตัวเองได้มากขึ้น เพราะว่าสามารถทำสิ่งที่ยากแต่สร้างสรรค์ได้แล้ว หัวใจคุณจะเปิดรับการรักคนอื่นได้มากขึ้นแทนการรักตัวเอง ซึ่งจะเป็นการสร้างเสน่ห์ให้กับตนเองตรงที่คุณรู้จัก รักคนอื่นได้มากนี่แหละครับ

ปกติมนุษย์เราจะรักคนที่รักมนุษย์เป็น ทั้งนี้เพราะอยู่ด้วยแล้วจะรู้สึกอบอุ่น ปลอดภัยเป็นมิตร การให้อภัยนี้ถือเป็นงานชิ้นเยี่ยมของชีวิตเชียวน่ะครับ เพราะทำได้ยาก ลดความทุกข์ได้มาก เกิดความสร้างสรรค์มากและเป็นการยกระดับจิตวิญญาณของความเป็นมนุษย์ให้สูงขึ้นมากมาย คุณจะไม่ลองทำดูเดี๋ยวนี้หรือครับ

By: ศ.ดร.น.พ.วิทยา นาควัชระ

การให้อภัยตัวเอง

          เช้าวันนี้ ปรุงศรีสวดมนต์เสร็จกราบพระแล้ว ยังคงนั่งอยู่ต่อ มองดูพระพุทธรูปองค์เล็กที่ตนกราบไหว้บูชามานาน พลางระลึกว่า กำลังได้มีโอกาสสั่งทำพระพุทธรูปองค์ใหญ่ เพื่อไปถวายวัดสร้างใหม่อย่างไม่คาดฝัน มีความปลาบปลื้มล้นอยู่ในใจ หันหลังไปมองรูปใบเก่าของแม่ แม่นั่งอยู่หน้าพระองค์ใหญ่ ซึ่งสร้างถวายวัดเมื่อครั้งกระโน้น ปรุงศรียินดีที่ตนได้ทำอย่างแม่บ้าง          พินิจพิเคราะห์นานไปหน่อย ความคิดของปรุงศรีเริ่มหันเหสายตามาคิดถึงแม่ ความเบิกบานค่อย ๆ ลดลง อารมณ์เปลี่ยนไปตามสภาวะที่เกิดขึ้นใหม่ในใจเวลาคิดถึงแม่ เธออดจะคิดถึงช่วงสุดท้ายของแม่ไม่ได้ตอนที่แม่ไม่สบายมาก แม่เรียกเธอเข้าไปใกล้ ๆ กระซิบให้เธอช่วยตัดเสื้อใหม่ให้แม่ตัวหนึ่ง ปรุงศรีคิดในใจว่าแม่คงพูดไปยังงั้นเอง ไม่สบายอยู่จะใส่เสื้อใหม่ไปไหน เธอจึงไม่ได้ตัดให้ แม้แม่จะบอกเป็นครั้งที่สอง จนกระทั่งมีญาติคนหนึ่ง บอกว่า แม่เขารู้ตัวนะซี วันที่เขาตายเขาจะได้มีเสื้อใหม่ใส่ไปไหว้พระบนสวรรค์ปรุงศรีรีบตัดเสื้อให้แม่ทันทีจนดึกดื่น แต่เมื่อเอาเสื้อใหม่ไปให้แม่ดู เพื่อให้แม่สบายใจ แม่ก็ไม่สามารถรับรู้ข่าวนี้ได้แล้ว

ปรุงศรีน้ำตาไหลเสียใจทุกครั้งที่คิดขึ้นมา แม้ว่าเวลาจะผ่านไปเนิ่นนาน แต่อารมณ์นั้นก็ยังคงเหมือนเดิม

แก้ว เดินเข้ามาในห้องเพื่อจะสวดมนต์ เห็นแม่นั่งทำหน้าเศร้า ๆ อยู่จึงไถ่ถาม “อ้อ เรื่องนี้อีกแล้ว แม่ต้องปล่อยเรื่องมันไปอยู่ในเวลาของมันสิจ๊ะ พอดีเมื่อคืนหนูฟังเทปท่านชยสาโรภิกขุ ท่านพูดเรื่องการให้อภัยตัวเอง เดี๋ยวหนูไปเะอามาเปิดให้แม่ฟังนะ” แก้วรีบรุดออกไปจัดการเอาเทปมาเปิดให้แม่ฟังในห้องพระ เสียงพระเทศน์ว่า

” การให้อภัยตัวเอง อาศัยปัญญา ที่ยอมรับว่าเรายังมีกิเลสและมีโอกาสหลงทำสิ่งที่ผิดได้ เรื่องที่เราเคยทำไว้ไม่ถูกต้องถ้าเราพิจารณาแล้วต้องเห็นว่า การที่ทุกวันนี้ เราคิดว่าในสมัยนั้นไม่ควรทำอย่างนั้น ว่าตัวเอง ก็ไม่ยุติธรรม อย่างอาตมาอายุ 43 คิดถึงตอนอายุ 16 ปีทำให้รู้สึกละอาย ถ้าอาตมาว่าตัวเองว่าตอนนั้นไม่น่าทำ ก็ไม่ยุติธรรม เพราะเอาปัญญาของผู้มีปัญญาอายุ 43 ไปตัดสินเด็ก 16 เหมือนว่าเด็ก 16 ปี ควรมีปัญญาเท่าผู้มีอายุ 43 คือ เราเอาปัจจุบันไปตัดสินอดีต ซึ่งยังไม่เคยศึกษาธรรมะ

พวกเราก็เหมือนกัน ได้ปฏิบัติธรรม ความคิดก็เปลี่ยนไปแต่จะเอาอดีตที่ยังไม่เข้าวัด ก็ไม่ยุติธรรม ควรยอมรับว่าสมัยนั้นมีความรู้แค่นั้น มีสติ มีความรอบคอบแค่นั้น มันจึงมีการกระทำอย่างนั้น เราก็ให้อภัยตัวเองได้…

เราให้อภัยแล้ว เหมือนให้โอกาสที่ให้ตัวเองปรับปรุงแก้ไขต่อไป ไม่ใช่เราเคยผิดพลาด ทำไม่ดี จะต้องเป็นคนไม่ดีตลอดชีวิต เราไม่ควรให้กรรมเก่ากำหนดชีวิตของเรา…….

ถ้าพวกเรายังรู้สึกว่ามีเรื่องในอดีตเป็นอุปสรรค ถ่วงไม่ให้ก้าวหน้าก็ควรจัดการ ปล่อยวาง ให้อภัยตัวเอง ตั้งต้นใหม่เพราะคนเราเปลี่ยนได้ คนเราสามารถกลับตัวได้…….

พวกเราให้ระวังความคิด ความคิดสร้างขอบเขตกั้นรั้วไม่ให้เราก้าวหน้าในธรรม ความจริงเรามีโอกาสพอที่จะเห็นธรรม แต่นอกจากความเชื่อมั่นในพุทธคุณ ธรรมคุณ สังฆคุณแล้ว เราต้องปลูกฝังศรัทธาในตัวเองว่าเราทำได้ เราเข้าถึงธรรมได้ ถึงแม้ในอดีตเราเคยประมาท เคยทำพูดคิดไม่ดี ก็ไม่เป็นอุปสรรค

แต่เราควรได้บทเรียนจากประสบการณ์ ป้องกันไม่ให้ผิดอีก และให้อภัยตัวเอง แล้วแสวงหาสิ่งที่ดีที่สุดมาใส่ชีวิตของตน”

แก้วเข้ามากอดแม่ ปรุงศรียิ้ม กอดมือลูกสาวไว้

“ถ้าแม่คิดว่าทำผิดเรื่องยาย แม่ต้องปล่อยไป ไม่อย่างนั้นแม่จะทำผิดเป็นเรื่องที่สอง คือไม่เชื่อฟังคำที่พระอาจารย์เทศน์นะจ๊ะ”.

ใส่ความเห็น